เกี่ยวกับโครงการ

จากการที่ประเทศไทยได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ภายใต้วิสัยทัศน์เชิงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เพิ่มศักยภาพการทำงานโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในระบบการศึกษา การเรียนรู้ด้านการแพทย์ รวมถึงการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น  การนำนวัตกรรมด้าน Data Science และ IoT (Internet of Things) และ เซนเซอร์มาประยุกต์ใช้งาน งานด้านเกษตรกรรมเพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์ทำให้ผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมดีขึ้น  งานด้านการขนส่ง - การเดินทาง เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยการนำข้อมูลบางส่วนมาประกอบกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data เข้ามาช่วยเพื่อทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าต่างๆ ลดลง รวมถึงการนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อประมวลผลกับระบบสมองกล   ฝังตัวและระบบ AI (artificial intelligence) มาใช้งานเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้งานหรือระบบต่างๆ สามารถจัดการได้ง่ายขึ้น ถูกต้องมากขึ้น แต่ราคาถูกลง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มองความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0


รูปที่ 1 ระบบการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ IoT

ระบบการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ซึ่งประกอบไปด้วย เซนเซอร์ Node, คลาวด์ และอุปกรณ์แสดงผลและที่สำคัญช่วยประหยัดเวลามากขึ้น การใช้ความฉลาดของเทคโนโลยีทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติภายใต้การออกแบบคำสั่งการของผู้ใช้งาน โดยผู้มีส่วนร่วมหลักในการขับเคลื่อนจะประกอบด้วยภาคเอกชน ภาคการเงิน การธนาคาร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่าง ๆ โดยเน้นตามความถนัดและจุดเด่นของแต่ละองค์กร และมีภาครัฐเป็นตัวสนับสนุน ประกอบกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนวัยทำงานทุกสาขาอาชีพ ทั้งบุคลากรภาครัฐ และ ภาคเอกชน ให้มีความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาดในการประกอบ อาชีพ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรง ให้มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระดับมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล สามารถเริ่มต้นได้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อเป็นการวางรากฐานและการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน โดยเฉพาะนิสิตในมหาวิทยาลัยที่จะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งเป็นบุคลากรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากประเด็นดังกล่าวมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น จึงเห็นว่าการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เช่น นวัตกรรมด้าน Data Science และ IoT ระบบสมองกลฝังตัว และระบบ AI ซึ่งมีปริมาณข้อมูลที่จะถูกจัดเก็บเป็นจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น  การทำความสะอาดข้อมูล (Data munging) การแสดงผลข้อมูลให้น่าสนใจ  (data visualization) การทำความเข้าใจในข้อมูล (Exploratory Data Analysis) การใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine learning) ในการวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโมเดลการเรียนรู้ของเครื่องจักร ให้แก่นิสิตซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงมีความคิดที่จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการเรียนรู้ สื่อการสอน และการแบ่งปันข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพนิสิตที่จะก้าวสู่วัยทำงานให้เป็นบุคลากรของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเป็นแหล่งรวบรวมเนื้อหาด้านการเรียนรู้ทั้งตามหลักสูตรการศึกษาและความรู้ทั่วไปในการเข้าถึงองค์ความรู้ในระบบได้หลากหลายช่องทาง มีความสะดวก ง่ายต่อการใช้งาน และมีประสิทธิภาพ 
  2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การสร้างเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ 
  3. เพื่อส่งเสริมให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้เข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและนำความรู้ที่ได้จากศูนย์การเรียนรู้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยและประเทศต่อไป
  4. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ส่วนงานต่างๆภายในมหาวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนและพัฒนา   องค์ความรู้ระหว่างกัน และสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการวิจัยในอนาคต
  1. มีศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับจัดการองค์ความรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้นิสิต อาจารย์ บุคลากรและบุคคลทั่วไป ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านห้องฝึกปฏิบัติการ และระบบแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง
  2. มหาวิทยาลัยได้นำผลงานจากการเรียนรู้ของนิสิต คณาจารย์ มาต่อยอดเพื่อมาประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยต่อไป
  3. ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยได้มีเครือข่ายการวิจัยร่วมกันอย่างเข้มแข็ง
  4. หลังจากที่ได้ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี Data Science และ IoT ผู้ได้รับการถ่ายทอดสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์เพื่อสร้างนวัตกรรมรวมถึงงานวิจัยในการแก้ปัญหาพื้นฐานของแหล่งชุมชนนั้นๆ รวมถึงตอบโจทย์นโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม
  5. ผลผลิตที่ได้จากโครงการนี้จะถูกนำไปช่วยในการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล โดยในส่วนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้น สื่อการเรียนการสอนที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้จะนำไปประกอบการเรียนการสอนวิชา CP435 Introduction to Embedded Systems ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง และวิชา CP462 Introduction to Data Science ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิทยาการข้อมูลเบื้องต้น ในส่วนของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูล สื่อการเรียนการสอนที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้จะนำไปประกอบการเรียนการสอนวิชา DS511 Data Science ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิทยาการข้อมูลและการนำไปใช้งานขั้นสูง DS512 Machine Learning ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้ของเครื่องจักร  DS513 Cloud Computing ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการประมวลผลกลุ่มเมฆ และ DS531 Internet of Things ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง

แนวคิด วิธีการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน ระยะเวลา
ห้องฝึกปฏิบัติการ จัดหาอุปกรณ์ระบบเครือข่ายและระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการฝึกปฏิบัติ
  1. จัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อสำรวจความต้องการของนิสิตอาจารย์และบุคลากร
  2. จัดหาอุปกรณ์ ระบบเครือข่ายและระบบที่เกี่ยวข้อง
  3. สนับสนุนการใช้งานห้องฝึกปฏิบัติการ
12 เดือน
ระบบแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาระบบแหล่งเรียนรู้ การนำเข้าสื่อการเรียนการสอนหรือองค์ความรู้ เพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูล 
  1. จัดสนทนากลุ่ม (Focus Group)เพื่อสำรวจความต้องการของนิสิตอาจารย์และบุคลากร
  2. ศึกษาความเป็นไปได้ วิเคราะห์และออกแบบระบบ
  3. จัดหา พัฒนาและติดตั้งระบบแหล่งเรียนรู้
  4. สนับสนุนการใช้ระบบแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง
12 เดือน
สื่อการเรียนการสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน
  1. จัดเตรียม/ออกแบบ เนื้อหาสำหรับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
  2. ดำเนินการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน 
  3. สนับสนุนการเรียนการสอน
12 เดือน
กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้ ฝึกอบรมให้ความรู้เบื้องต้น ประชาสัมพันธ์ศูนย์การเรียนรู้ และแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง
  1. วางแผนการจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้
  2. ดำเนินการฝึกอบรม
  3. จัดกิจกรรมประกวดโครงงาน
  4. ติดตามและประเมินผล
3 เดือน
การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่น สร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรต่างๆเพื่อสร้างเครือข่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี Data Science และ IoT โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Nichi Institute of Technology), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย  (THAI MOOC)  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการพัฒนา การเรียนการสอนด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
  1. ประชาสัมพันธ์จุดประสงค์ของศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลให้กับมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ เพื่อเข้ามาร่วมใช้งานทรัพยากรด้าน Data Science และ IoT 
  2. สนับสนุนให้มีการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยี Data Science และ IoT ระหว่างมหาวิทยาลัย
  3. แลกเปลี่ยนแนวคิด รวมถึงการใช้ทรัพยากรด้าน Data Science และ IoT ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างนวัตกรรม และงานวิจัยในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
  4. มีการจัดอบรมคณาจารย์ นิสิต และผู้สนใจจำนวน 40 คน
12 เดือน

ที่ปรึกษาโครงการ

  • รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย  สันติวัฒนกุล
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติคุณ รุ่งเรือง

หัวหน้าโครงการ

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมภพ รอดอัมพร

คณะผู้วิจัย

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันตรี ผลประเสริฐ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ วิยานนท์ 
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศศิวิมล  สุขพัฒน์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุวีย์  วิวัฒนวัฒนา
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย  ไทยเจริญ
  • อาจารย์ ดร.วีรยุทธ  เจริญเรืองกิจ
  • อาจารย์ ดร.ศิริสรรพ  เหล่าหะเกียรติ
  • อาจารย์ ดร.วีระ  สอิ้ง
  • อาจารย์ ดร.ธีระศักดิ์  จันทร์วิเมลือง
  • อาจารย์อาคม ม่วงเขาแดง    
  • อาจารย์สุทธิพันธ์ อักษรเนียม
  • อาจารย์อรรถศิษฐ์ พัฒนะศิริ
  • นายมหัทธวัฒน์  รักษาเกียรติศักดิ์
  • นางสาวสุวิมล คงศักดิ์ตระกูล